ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

โครงการเห็ดแครงชีวภาพพื้นถิ่นสู่คุณค่าแท้แก่มหาชน | จากปัญหาจนเป็นที่มาของการเกิดโครงการดังกล่าว [อบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา]

 ณ ตำบลท่าข้าม โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม (อบต.ท่าข้าม) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีโครงการเด่นที่ส่งเข้าประกวดนวัตกรรม คือ โครงการเห็ดแครงชีวภาพพื้นถิ่นสู่คุณค่าแท้แก่มหาชน ซึ่งทาง "อาจารย์ X" ได้เข้ามาช่วยจัดทำคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ข้อมูลทั่วไป
ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีที่ตั้งห่างจากศาลากลางจังหวัดสงขลา ประมาณ 21 กิโลเมตร โดยมีขนาดพื้นที่ 33.92 ตารางกิโลเมตร และจากข้อมูลสำรวจปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลท่าข้าม มีจำนวนครัวเรือน 4,209 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็น 8 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 9,019 คน อาชีพหลักของประชากร คือ เกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 27

เริ่มต้นจากปัญหา 2 ด้าน
เนื่องจากในตำบลท่าข้ามนั้น มีปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเร่งจัดการ อันได้แก่
  1. ปํญหาด้านเศรษฐกิจ - ประชาชนตำบลท่าข้าม ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ราคาพีชผลตกต่ำไปด้วย รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ประชาชนมีภาระหนี้สิน ทาง อบต.ท่าข้าม ได้เล็งความสำคัญของการสร้างอาชีพเสริมรายได้ โดยได้ส่งเสริมประชาชนให้นำของดี ของที่มีอยู่แล้วในตำบลมาสร้างเป็นอาชีพ
  2. ส่วนอีกด้านนึงก็จะเป็น ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย - ปัจจุบันประชาชนมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภค สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคตามมา เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดอื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก โรคโควิด - 19 ทาง อบต.ท่าข้าม จึงจำเป็นต้องต้องดำเนินโครงการด้านสุขภาพทุกปี
ดังนั้น จากปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงได้เกิดนวัตกรรมโครงการเห็ดแครงชีวภาพพื้นถิ่นสู่คุณค่าแท้แก่มหาชนขึ้น โดยได้ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ.

การสำรวจข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น
เนื่องจากพื้นที่ตำบลท่าข้าม มีประชาชนประกอบอาชีพการทำสวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันราคาผลผลิตยางพารามีแนวโน้มจะลดลง ส่งผลทำให้เกษตรกรมีรายได้ในครัวเรือนไม่เพียงพอ และทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้บูรณาการกิจกรรมร่วมกับโครงการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว คือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็ดจพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น จากการสำรวจและเก็บรวบรวมทรัพยากรท้องถิ่น  ค้นพบ “เห็ดแครง” ที่บันทึกอยู่ในฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น เป็นชีวภาพพื้นถิ่นประเภทเห็ดที่สำคัญของชุมชน และจากการศึกษาเรียนรู้จนเกิดเป็นชุดความรู้ ได้ทราบว่า “เห็ดแครง” มีแนวโน้มที่จะลดลงในแหล่งธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจากการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ การปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากการทำกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกร เช่น การใช้ยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืช, การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งธรรมชาติ

ทั้งหมดนี้ จึงนำมาสู่การยกระดับเป็นโครงการเพาะเห็ดแครงในระบบโรงเรือนขึ้นภายในชุมชน และเป็นที่มาของ “โครงการเห็ดแครงชีวภาพพื้นถิ่นสู่คุณค่าแท้แก่มหาชน” ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงนโยบายผู้บริหารฯ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการร่วมสนองงานโครงการ อพ.สธ. ส่งผลทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชน และเกิดความมั่นคงทางอาหาร ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

กระบวนการดำเนินงาน
ในส่วนกระบวนการดำเนินงาน โครงการเห็ดแครงชีวภาพพื้นถิ่นสู่คุณค่าแท้แก่มหาชนนั้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ได้จัดเวทีกระบวนการสรรสร้าง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด วิธีการต่าง ๆ มีการสนับสนุนเงินทุน สนับสนุนความรู้ทางวิชาการ การแปรรูปและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ การวางแผนช่องทางการตลาด การบริหารจัดการองค์กร เช่น การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ของตำบลท่าข้าม

ในส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากเห็ดแครงนั้น แบ่งออกเป็น
  1. กลุ่มขั้นกระบวนการเพาะเลี้ยง โดยเริ่มต้นเพาะเลี้ยงก้อนเห็ด จนเกิดเป็นเห็ดแครงที่พร้อมนำไปประกอบอาหาร หรือส่งต่อไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป
  2. กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเห็ดแครง โดยนำเอาเห็ดแครงที่ผลิตได้ในกลุ่มแรกนำมาเข้ากระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ขนมปั้นสิบ ขนมเปี๊ยะ ขนมทองม้วน เป็นต้น
  3. กลุ่มต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  จังหวัดสงขลา นำความรู้ทางด้านวิชาการ เพื่อสกัดเอาสารที่เป็นประโยชน์ทางยาออกมาจากเห็ดแครง สร้างเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีสารสกัดมาจากธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ผลลัพธ์และผลกระทบในการดำเนินงาน
สำหรับผลลัพธ์และผลกระทบในการดำเนินการ แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้
  1. ด้านเศรษฐกิจ - สร้างอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างสวัสดิการให้แก่ประชน โดยยึดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกิดความมั่นคงทางอาหาร และปลอดภัย
  2. ด้านสังคม - เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย ชุมชน องค์กร หน่วนงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนมีจิตสำนึก เห็นคุณค่า หวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นของตน ส่งเสริมสุขภาพ เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ให้แก่ เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน สร้างสัมพันธภาพระหว่างคณะทำงานและชุมชน เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากร “อนุรักษ์ ศึกษา พัฒนาต่อยอดการนำไปใช้ประโยชน์ และเผยแพร่สู่สังคม”
  3. ด้านการเมือง - มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น และนโยบายของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ด้านบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ประชาชนเกิดความไว้วางใจในผู้นำท้องถิ่นและเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น
  4. ด้านสิ่งแวดล้อม - ลดการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่เขตปกปักเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น โดยประชาชนร่วมกันใช้ข้อมูลอย่างรู้คุณค่า และร่วมกันรักษาไว้เพื่อให้คงสภาพเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำเดือน

ที่มางานประเพณีชักพระ (ลากพระ) เดือน ๑๑ | ตัวอย่างงานจาก อบต.ท่าข้าม หาดใหญ่ [ท่านางข้าม]

 หากพูดถึงประเพณีชักพระ หรือลากพระ ซึ่งเป็นพระเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานของทางภาคใต้ของประเทศไทย (จะพบประเพณีนี้เป็นส่วนใหญ่)

ตำนานผี คุณยายสปีด || ท่านางข้าม

 เรื่องเล่าสุดสยองที่ถูกสืบต่อกันมา จากโศกนาฏรรมสู่เรื่องราวสุดสยองน่ากลัวของเมืองหาดใหญ่ (จ.สงขลา) ตำนานผี คุณยายสปีด (มีคลิป)

นิทานเรื่อง ทำบุญแต่ได้บาป [ท่านางข้าม]

 กาลครั้งหนึ่ง ในหมู่บ้านเล็ก ๆ มีวัดแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน นายคงมั่นเป็นคนที่ชอบเข้าวัดทำบุญ เขามักจะนำของต่าง ๆ มาถวายพระ นายคงมั่นสามารถท่องจำบทสวดมนต์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และเป็นคนที่เคร่งต่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในการทำบุญอย่างมาก