คำโบราณกล่าวกันไว้ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" แต่ทำไมในบางครั้งเราก็กลับได้ยินมาเสมอ ๆ ว่า ทำความดีช่วยเหลือเขาแท้ ๆ แต่ไหงกลับได้รับผลตอบแทนไม่ดีกลับมาล่ะ บทความนี้พอจะมีตัวอย่างคำตอบครับ
เรื่องนี้จะขอยกตัวอย่างจากนิทานอีสป เรื่อง คนกับป่าไม้ มาเล่าในสไตล์ blog อาจารย์ X นะครับ โดยเรื่องมีอยู่ว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชายวัยกลางคน ๆ หนึ่ง ซึ่งเขาเป็นคนตัดไม้ วันหนึ่งเขาได้เดินเข้าป่าศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ซึ่งในป่าแห่งนี้ไม่ว่าใครก็ตามจะทำอะไร เช่น จะมาหาน้ำดื่มจากในลำธาร หรือจะมาหาของป่า หรือจะมาขอเศษกิ่งไม้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ก็ตาม ทุก ๆ คนจะต้องมาขอกับเจ้าป่าเจ้าเขาที่นี่เสียก่อน เพราะมิเช่นนั้นจะทำไม่ได้ จะต้องถูกเจ้าป่าเจ้าเขาลงโทษ
ชายคนนี้จึงได้เดินเข้าป่า และตรงเข้าไปยังที่ ๆ เจ้าป่าเจ้าเขาพำนักอยู่ (เจ้าป่าเจ้าเขาในเรื่องนี้คือ คุณปู่ผู้เฒ่าต้นไม้ใหญ่)
ชายวัยกลางคน: "ท่านผู้เฒ่าเจ้าป่า ข้าเดินเข้าป่าลึกมาในวันนี้ ก็เพื่อจะมาขอกิ่งไม้สักกิ่งจากท่าน ขอท่านได้โปรดอนุญาตด้วยเถิด ข้าจะได้นำกิ่งไม้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป อ้อ! ข้าขอกิ่งเท่าแขนเลยนะท่าน"
ท่านผู้เฒ่าเจ้าป่าผู้มีจิตใจเมตตา และพร้อมช่วยเหลือผู้คนเสมอ เมื่อได้ยินแบบนี้จึงอนุญาต และได้มอบกิ่งไม้กิ่งหนึ่งขนาดเท่าแขนให้กับชายคนนี้ไป
และแล้วเมื่อชายคนนี้ได้กิ่งไม้ที่ท่านผู้เฒ่าเจ้าป่าให้มา เขาไม่รอช้าจึงได้นำกิ่งไม้นี้ไปตัดเป็นด้ามขวาน พร้อมประกอบกับตัวใบมีดขวาน
ตอนนี้ชายคนนี้ได้ขวานที่ถนัดมือ พร้อมแล้วกับการนำไปตัดต้นไม้ และที่น่าเสียใจเป็นยิ่งนัก คือ ชายคนนี้ได้ย้อนกลับมายังป่าแห่งเดิม เขาได้ทำการตัดต้นไม้ทุก ๆ ต้นในผืนป่าแห่งนี้จนหมดเกลี้ยง
นิทานจบแล้วครับ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การให้ความช่วยเหลือศัตรู อาจนำผลร้ายมาสู่ตัวเราในภายหลังได้
จากคำถามในตอนต้นของบทความนี้ที่ว่า ทำไมเราช่วยเหลือเขา แต่เรากลับได้รับโทษ ก็เพราะว่า ในกรณีตัวอย่างนี้ ท่านเจ้าป่าเจ้าเขารู้ดีและเห็นอยู่แล้วว่า ผู้ชายวัยกลางคน ๆ นี้เป็นคนตัดไม้ที่เคยตัดไม้มามากมาย แสดงว่าคนตัดไม้นี้เปรียบเสมือนศัตรูของผืนป่า ซึ่งต่อให้ท่านเจ้าป่าจะมีความเมตตาใจดี มีคุณงามความดีอยู่ในตัวก็ตาม แต่หากช่วยเหลือผิดคน ดันไปช่วยเหลือศัตรูแล้วล่ะก็ อาจส่งผลเสียตามมาภายหลังเหมือนในกรณีนิทานเรื่องนี้
และในชีวิตจริงก็เช่นกันนะครับท่านผู้อ่าน ในการช่วยเหลือคนอื่น หรือการให้ทาน ปกติจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ (ตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา) คือ
- ผู้ให้บริสุทธิ์
- ของที่ให้บริสุทธิ์
- ผู้รับบริสุทธิ์
หากเราบริจาคสิ่งของ หรือให้ความช่วยเหลือใคร ๆ แน่นอนว่าเราเป็นผู้ให้เราบริสุทธิ์ใจแน่นอน ข้อนี้จึงผ่าน
ของที่ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของซึ่งได้มาด้วยความสุจริต หรือจะเป็นความช่วยเหลือที่เราให้ไปด้วยความจริงใจ ดังนั้นข้อนี้ก็ผ่าน
แต่ผู้รับ บางครั้งผู้รับมิได้มีเจตนาหรือจิตใจที่บริสุทธิ์ เช่น หากเราช่วยเหลือศัตรู หรือช่วยเหลือคนไม่ดีเข้าไป แน่นอนว่าองค์ประกอบของข้อนี้จึงไม่ผ่านครับ
จึงเป็นที่มาของคำคม หรือข้อความเปรียบเทียบที่ว่า "คนบางคน ไม่สมควรแก่การช่วยเหลือ"
หมายเหตุ
การบริจาคทำบุญต่าง ๆ ให้กับโรงเรียน ให้กับวัด ให้กับสถานพยาบาล หรือให้กับมูลนิธิผู้ยากไร้นั้น ถือว่าองค์ประกอบ 3 อย่างครบถ้วน ทั้งเรา ทั้งของที่ให้ และผู้รับซึ่งรับไปช่วยเหลือคนอื่นต่อครับ สาธุ
ส่งเสริมคุณธรรม ผ่านช่องทางความบันเทิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น