เคยมั้ยครับ? ต้องพบเจอกับคนอันธพาล คนที่คอยระรานไม่มีเหตุผล นี่คือตัวอย่างเหตุการณ์ และสิ่งที่ควรทำครับ
ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ตามหัวข้อเรื่องนี้ กับนิทานอีสป (ที่เล่าในสไตล์ Blog อาจารย์ X) เรื่อง หมาป่ากับลูกแกะ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ลำธารแห่งหนึ่ง มีหมาป่าเจ้าเล่ห์ตัวนึงเดินไปกินน้ำที่ลำธาร และในขณะที่มันกำลังก้มดื่มกินน้ำอยู่นั้น มันก็เหลือบไปเห็นลูกแกะน้อยตัวนึงก็กำลังกินน้ำอยู่เช่นกัน ลูกแกะมาแค่ตัวเดียว ทำให้หมาป่าคิดในใจว่า จะต้องจับเจ้าลูกแกะตัวนี้มากินเป็นอาหารเย็นให้ได้
แต่ถ้าดูจากระยะห่างระหว่างหมาป่ากับลูกแกะแล้ว ถ้าหากมันตัดสินใจวิ่งไล่ตะครุบลูกแกะเสียตอนนี้คงไม่สำเร็จแน่ ๆ คงวิ่งไล่ไม่ทัน มันจึงตะโกนออกไปกึ่งขู่ลูกแกะว่า
หมาป่า: " เฮ้ย! เจ้าแกะน้อย เอ็งกล้าดียังไงถึงมายืนกวนน้ำให้ขุ่นเล่นแบบนี้ เอ็งไม่เห็นหรือว่าข้ากำลังกินน้ำอยู่"
ลูกแกะได้ยินเสียงหมาป่าตะโกนมาแบบนี้ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ทำให้น้ำขุ่น ตนไม่ได้ผิด แกะน้องจึงรีบตะโกนอธิบายเหตุผลออกไป
ลูกแกะ: "ท่านหมาป่า ข้าว่าท่านเข้าใจผิดแล้วล่ะ ตอนนี้ข้ายืนอยู่ที่ปลายน้ำ ดังนั้นแน่นอนว่าข้าไม่ได้เป็นคนทำให้น้ำที่ท่านดื่มกินขุ่นแน่ ๆ แต่ข้าคิดว่าท่านนั่นแหละทำให้น้ำขุ่นเสียเอง เพราะท่านก็ยืนอยู่ในน้ำเช่นกัน แถมท่านยังเดินไปเดินมาด้วย"
หมาป่าได้ยินลูกแกะตะโกนตอบกลับมาแบบนี้ มันจึงค่อย ๆ เดินขยับเข้าไปใกล้ ๆ ลูกแกะขึ้นอีกนิด ๆ พร้อมทั้งเปลี่ยนเรื่องคุยทันที
หมาป่า: "อ้า! ข้าจำได้แล้ว เอ็งนี่เองที่เป็นผู้ด่าข้าเมื่อปีที่แล้ว ข้าจำหน้าเอ็งได้ ประมาณเดือนนี้ของปีที่แล้ว บริเวรลำธารแห่งนี้แหละ"
หมาป่าพูดเสร็จก็ค่อย ๆ เดินขยับเข้าไปใกล้เข้าไปหาลูกแกะขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนลูกแกะได้แต่ยืนงงอยู่กับที่ พร้อมทั้งพยายามอธิบายเหตุผลออกมาอีก
ลูกแกะ: "เอ... ท่านหมาป่า ข้าว่าท่านคงจำผิดแล้วล่ะ เพราะตอนนี้ข้าเพิ่งอายุได้ 6 เดือนเองนะ และถ้า 1 ปีที่แล้วนี่ ข้ายังไม่ทันเกิดเลยนะท่าน"
หมาป่า: "อ่อ! เหรอ งั้นคงเป็นพ่อของเอ็งแน่ ๆ แต่ข้าไม่สนใจหรอก ยังไงเอ็งก็ต้องรับผิดชอบ"
พอพูดจบ หมาป่าเจ้าเล่ห์ไม่ได้สนใจฟังเหตุผลหรือคำตอบกลับมาอีกใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อมันเดินขยับเข้าไปใกล้กับลูกแกะมากพอแล้ว มันจึงรีบตะครุบลูกแกะน้อยทันที แล้วก็จับลูกแกะกินเป็นอาหารเย็นเรียบร้อย
นิทานจบแล้วครับ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า (มี 2 แง่คิดนะครับ)
1. ในมุมมองของหมาป่า คนอ่อนแอมักจะตกเป็นเหยื่อของคนเจ้าเล่ห์
2. ในมุมมองของลูกแกะ เราจะเห็นว่า หากเปรียบหมาป่าเสมือนคนพาล ไม่ฟังเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ลูกแกะจะพยายามยกเหตุผลไปเท่าไหร่ก็ตาม และเจ้าลูกแกะเองก็คงไม่ถูกจับกิน หากมันตัดสินใจวิ่งหนีเสียตั้งแต่ตอนแรก แทนที่จะเสียเวลาอธิบายไป มันจึงเปรียบดั่งคนเรานั่นเองครับ เมื่อเจอคนพาลและดูท่าว่าอธิบายเหตุผลไปแล้วเขาไม่ยอมรับฟัง ให้เราถอยห่างออกมา อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเขาจะปลอดภัยที่สุดครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น