ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ที่มา! "ขวัญเอยขวัญมา" - ประเพณีไทยแต่โบราณ คำเรียกปลอบโยนต่อผู้ที่กระทบสะเทือนใจขั้นรุนแรง

 คนไทยแต่โบราณ เชื่อว่าคนเราทุกคนนั้นเมื่อยามเกิดมา จะมีสิ่งหนึ่งที่ติดตัวมาด้วย เรียกว่า "ขวัญ" ซึ่งเป็นนามธรรมที่ว่ากันว่า จะคอยปกปักรักษาเจ้าของขวัญให้สุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญา มีความสดใส


ณ ช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้เขียน Blog นี้ มีเพลงดังเพลงหนึ่ง ชื่อ "ขวัญเอยขวัญมา" (ดูด้านล่างของบทความนี้ครับ ได้แชร์ลิงค์เพลงไว้แล้ว) โดยนักร้องคุณ ปาล์มมี่ ได้หยิบยกเอาพิธีกรรมนี้มานำเสนอผ่าน MV เพลงได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้นในบทความ Blog นี้ เรามาดูความหมายของคำว่า "ขวัญ" กันนะครับ (สำหรับคำว่า "ขวัญ" ตามความหมายในเพลงของคุณ ปาล์มมี่นั้น จะเป็นความหมายในข้อ 3 ที่ทาง Blog ได้อธิบายไว้ครับ)


ในความหมายอย่างแท้จริงของคำว่า "ขวัญ" ซึ่งเป็นคำนาม อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ มีความหมายหลากหลาย ดังต่อไปนี้

1. ขวัญ คือ ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย ซึ่งในความหมายนี้จะเห็นเป็นรูปธรรม โดยอาจลองสังเกตได้จากศีรษะของแต่ละคนครับ

2. ขวัญ คือ มิ่งมงคล หรือสิริ ซึ่งในความหมายนี้จะเป็นนามธรรม ใช้กล่าวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นมงคล เช่น ขวัญเรือน ขวัญข้าว

3. ขวัญ คือ สิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม คนไทยเราแต่โบราณเชื่อกันว่า สิ่งนี้มีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง ถ้าคนตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็ออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนนั้นได้รับผลร้ายต่าง ๆ, หรือใช้เรียกผู้ตกใจง่ายคือ เด็กหรือหญิงซึ่งมักจะขวัญหายบ่อย ๆ ว่า ขวัญอ่อน , และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน, โดยปริยายหมายความว่า ยอดกำลังใจ เช่น ขวัญเมือง ว่า ยอดกำลังใจของเมือง

4. ขวัญ คือ กำลังใจ เช่น กล่าวว่า ขวัญดี หมายถึง มีกำลังใจที่ดี หรือกล่าวว่า ขวัญกำลังใจดี นั่นเอง

5. ผู้รู้พิธีทำขวัญ เรียกว่า หมอขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ในแต่ละภาคของประเทศไทยจะมีประเพณีที่ค่อยข้างแตกต่างกัน แต่ก็ยังคงความหมายไปในทางเดียวกัน

6. การทำพิธีเชิญขวัญ หมายความถึงว่า การ "เรียกขวัญ" มาอยู่กับตัว

7. ขวัญยังหมายถึงการเสียค่าปรับให้แก่ผู้ถูกทำร้ายหรือถูกหมิ่นประมาท จะใช้คำว่า "ค่าทำขวัญ"

8. เอาเส้นด้ายผูกข้อมือเด็กแล้วกล่าวเรียกขวัญว่า “ขวัญเอ๋ย มาอยู่กับเนื้อกับตัว” แล้วกล่าวให้พรต่อไปตามควร เรียกว่า ผูกขวัญ หรือในบางครั้งในสมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กเล็ก ๆ เมื่อตกใจอะไรนิดหน่อย บ้างก็ร้องไห้ จะมีการปลอบใจให้คลายกลัวด้วยคำว่า "ขวัญเอ๋ยขวัญมา มาอยู่กับเนื้อกับตัวนะลูกนะ"

9. การเรียกขวัญหรือเชิญขวัญ เรียกว่า "รับขวัญ"

10. การทำพิธี เช่น รดนํ้ามนตร์ให้ เสกเป่าให้ หรือกล่าวปลุกใจต่าง ๆ เพื่อให้ขวัญดีมีใจกล้าหาญ เรียกว่า บำรุงขวัญ (สังเกตคำว่า "น้ำมนตร์" ผู้เขียนใช้ "ตร์" ซึ่งหมายถึง น้ำที่ได้ผ่านการทำพิธีทางพราหมณ์ แทนที่จะเป็น "น้ำมนต์" ใช้ "ต์" นั้นหมายถึง น้ำที่ได้ผ่านการทำพิธีทางพระพุทธศาสนา นั่นเอง)

11. ขวัญ ยังหมายถึง สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้ว หรือหมายถึงการให้สิ่งของกันในเวลาอื่น ๆ เพื่อเป็นการเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เรียกว่า ของขวัญ หรือการแลกของขวัญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

12. ข้าวบายศรี เรียกว่า ข้าวขวัญ

13. ไข่ปอกที่เสียบไม้ปักไว้บนยอดบายศรี เรียกว่า ไข่ขวัญ (หรือบ้างก็เรียก ไข่ข้าว)

14. ขวัญ ใช้เรียกลูกที่รักมากที่สุด เรียกว่า ลูกขวัญ

15. ใช้เรียกผู้หญิงที่รัก ผู้ที่เป็นมิ่งขวัญอย่างยอดเยี่ยม เรียกว่า จอมขวัญ

16. ใช้เป็นคำยกย่องภรรยาอันเป็นที่รัก เรียกว่า เมียขวัญ

17. หากหมายถึง กำลังใจเสีย เรียกว่า เสียขวัญ


เพลง ขวัญเอยขวัญมา โดยนักร้องชื่อดัง คุณ ปาล์มมี่ (Palmy)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำเดือน

ที่มางานประเพณีชักพระ (ลากพระ) เดือน ๑๑ | ตัวอย่างงานจาก อบต.ท่าข้าม หาดใหญ่ [ท่านางข้าม]

 หากพูดถึงประเพณีชักพระ หรือลากพระ ซึ่งเป็นพระเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานของทางภาคใต้ของประเทศไทย (จะพบประเพณีนี้เป็นส่วนใหญ่)

ตำนานผี คุณยายสปีด || ท่านางข้าม

 เรื่องเล่าสุดสยองที่ถูกสืบต่อกันมา จากโศกนาฏรรมสู่เรื่องราวสุดสยองน่ากลัวของเมืองหาดใหญ่ (จ.สงขลา) ตำนานผี คุณยายสปีด (มีคลิป)

นิทานเรื่อง ทำบุญแต่ได้บาป [ท่านางข้าม]

 กาลครั้งหนึ่ง ในหมู่บ้านเล็ก ๆ มีวัดแห่งหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน นายคงมั่นเป็นคนที่ชอบเข้าวัดทำบุญ เขามักจะนำของต่าง ๆ มาถวายพระ นายคงมั่นสามารถท่องจำบทสวดมนต์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และเป็นคนที่เคร่งต่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในการทำบุญอย่างมาก