ในสมัยเด็ก ๆ ตอนอยู่โรงเรียนชั้นประถม ก่อนที่ผู้เขียนจะกลับบ้าน คุณครูจะให้เด็ก ๆ ท่องบทกลอน บทเรียนต่าง ๆ เช่น สูตรคูณ พุทธสุภาษิต หรือแม้กระทั่ง บทที่เกี่ยวกับ ธงไตรรงค์...
คำว่า "รงค์" (คำนาม) แปลว่า สี
คำว่า "ไตร" (ในที่นี้เป็น คำวิเศษ ใช้ขยายคำนามที่อยู่ข้างหลัง) แปลว่า สาม
ดังนั้น คำว่า ธงไตรรงค์ เมื่อแปลรวมกันก็คือ ธงหรือผืนผ้า (หรือผืนกระดาษ หรือสิ่งอื่น ๆ) ที่มี 3 สี โดยเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย
เราจึงนิยมเรียก ธงชาติไทย ว่า ธงไตรรงค์ นั่นเอง เพราะสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน
ในสมัยผู้เขียนยังเด็ก ๆ (อย่างที่เกริ่นนำไปในบทนำ) มีการท่องจำบท ธงไตรรงค์ ดังนี้
"ธงชาติไทยมี 3 สี
1. สีแดง หมายถึง ชาติ
2. สีขาว หมายถึง ศาสนา
3. สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ไทย"
ลักษณะทั่วไป
ธงชาติไทยนั้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยแถบสี 5 แถบ มีสี 3 สี (ดังรูปข้างต้น)
การเคารพธงชาติ
ในประเทศไทยจะมีการเคารพธงชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงสถาบันสูงสุดของชาติไทยทั้ง 3 สถาบัน อันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เมื่อเพลงชาติไทยดังขึ้น ประชาชนคนไทยก็จะยืนตรง ๆ ขาตรง แขนทั้ง 2 ข้างชิดลำตัว นิ่ง ๆ จนกระทั่งจบเพลง บ้างก็มีการโค้งคำนับเล็กน้อยหลังจบเพลง
ในขณะบรรเลงเพลงชาติไทยในบางหน่วยงาน จะมีการอันเชิดธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสา ในเวลา 8.00 น. ในตอนเช้า และอันเชิญลงสู่ยอดเสา ในเวลา 18.00 น. ในตอนเย็น โดยใช้วิธีผูกเชือกโยงกับรอก ดึงขึ้นตอนเช้า และดึงลงตอนเย็น ตามเวลาดังกล่าว
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชการที่มีการทำอย่างนี้
ปกติจะเป็นช่วงเวลาราชการ คือ จันทร์ - ศุกร์
ยกเว้นว่าในบางที่ มีการประดับธงชาติเพื่อแสดงความจงรักภักดี หรือเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ จะมีการประดับและติดไว้อย่างนั้น โดยไม่ได้มีการผูกเชือกโยงดึงขึ้น - ลง ทุกเช้าเย็น เหมือนดังเช่นในกรณีแรก แต่จะประดับติดไว้อย่างนั้นคงที่เดิมเอาไว้ตลอด จนกว่าจะมีการเปลี่ยน/ปลด ออกไป เช่น การประดับธงชาติไทยตามบ้านเรือน หรือการประดับธงชาติตามท้องถนนเมื่อมีงานเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น
ความหมายของสีธงชาติไทย
ในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ว่า (แต่ยังมิได้ประกาศเป็นทางการ)
- สีแดง คือ เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ (อันหมายถึง สีเลือดเนื้อของบรรพบุรุษไทย ที่เคยยอมพลีชีพ สละชีวิต เพื่อให้ได้มากับอิสระภาพของประเทศชาติ)
- สีขาว คือ ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและพระธรรม (อันหมายถึง ความบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ของดวงจิตใจ นั่นก็คือศาสนาในประเทศชาติไทย ซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนไทย ในประเทศไทยในสมัยนั้นมีการนับถือศาสนาพุทธมากที่สุด)
- สีน้ำเงิน คือ สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
ในยุคต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 อย่างเป็นทางการขึ้น ได้รวบรวมความคิดเห็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มต่าง ๆ ประกอบพระบรมราชวินิจฉัย
ได้มีเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้ให้การสนับสนุนให้มีธงชาติไทยต่อไป และให้มีการให้ความหมายธงชาติที่กระชับกว่าเดิม ดังนี้
- สีแดง หมายถึง ชาติ
- สีขาว หมายถึง พระพุทธศาสนา
- สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากสมัยรัชกาลที่ 6 เพียงเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์เดิม
ปัจจุบันนั้น สีขาวยังหมายถึงความบริสุทธิ์ ของศาสนาทุก ๆ ศาสนาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน (คนไทยนับถือพระพุทธศาสนามากที่สุด รองมาคือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ รวมถึงศาสนาอื่น ๆ อันบริสุทธิ์ด้วย)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น